

การสังเคราะห์งานวิจัย : ความหมาย แนวทาง ประเภท และขั้นตอน
การสังเคราะห์งานวิจัย : ความหมาย แนวทาง ประเภท และขั้นตอน (ความหมายของการสังเคราะห์งานวิจัย, แนวทางและประเภทของการสังเคราะห์งานวิจัย, ขั้นตอนการสังเคราะห์งานวิจัย และ การสังเคราะห์งานวิจัยโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ความหมายของการสังเคราะห์งานวิจัย
การสังเคราะห์ (synthesis) คือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการปริทัศน์ (review) อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ข้อค้นพบจากการเชื่อมโยงการศึกษาที่หลายหลาย โดยการสังเคราะห์จะเกี่ยวข้องกับการแปลงข้อมูลเบื้องต้นไปสู่การได้ข้อสรุปในภาพรวมซึ่งลึกซึ้งกว่าการสรุปในแต่ละเรื่องที่ศึกษา
การสังเคราะห์งานวิจัย (Research Synthesis) จึงเป็นกระบวนการศึกษาวิเคราะห์งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์อย่างเป็นระบบ ผลจาการสังเคราะห์จะได้ข้อสรุปที่มีความหมายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าข้อสรุปของงานวิจัยแต่ละเรื่อง
แนวทางและประเภทของการสังเคราะห์งานวิจัย
- การปริทัศน์ทฤษฎี (Theoretical Review) จะทำให้มีความรู้ชัดแจ้งถึงทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานของเรื่องที่จะทำวิจัย จะได้ข้อสรุปว่าจะใช้ทฤษฎีใดเป็นหลักในการวิจัยหรือจะใช้หลายทฤษฎีโดยการบูรณาการ
- การปริทัศน์วิธีวิทยา (Methodological Review) จุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมในการวิจัย การสังเคราะห์จึงเป็นการประมวลสาระในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิธีดำเนินการวิจัย
- การปริทัศน์บูรณาการวิจัย (Research Integration Review) การสังเคราะห์งานวิจัยแบบนี้เป็นการนำเสนอข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยหลายเรื่องที่ศึกษาปัญหาวิจัยเรื่องเดียวกันมาสรุปรวมให้ได้คำตอบที่เป็นข้อสรุปเพื่อตอบคำถามที่ต้องการ
ขั้นตอนการสังเคราะห์งานวิจัย
การสังเคราะห์งานวิจัยมีข้อตกลงเบื้องต้นที่สำคัญ 2 ประการ
ประการแรก งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์แต่ละเรื่องให้ข้อค้นพบแต่ละมุมของปรากฏการณ์ที่นักวิจัยต้องการศึกษา
ประการที่สอง เมื่อนำผลการวิจัยมาสังเคราะห์รวมกันผลการสังเคราะห์ที่ได้รับจะมีความกว้างขวางและลุ่มลึกมากเกินกว่าที่จะได้รับจากงานวิจัยแต่ละเรื่อง
ขั้นตอนในการสังเคราะห์หรือปริทัศน์งานวิจัย 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย
- การกำหนดจุดมุ่งหมายของการปริทัศน์
- การกำหนดลักษณะ ประเภท และแหล่งของเอกสารที่ต้องการ
- การสืบค้น คัดเลือก และจัดหาเอกสาร
- การศึกษาเอกสารอย่างพินิจพิเคราะห์
- การเสนอรายงานการปริทัศน์
การสังเคราะห์งานวิจัยโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) คือ วิธีการสำหรับการวิเคราะห์เชิงปริมาณอย่างเป็นระบบของสาระที่ชัดแจ้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปของคำตอบที่ถูกต้อง ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ คือ
- การตัดสินใจเลือกหน่วยของการวิเคราะห์ซึ่งอาจเป็นหัวข้อประเด็นหลัก หรือสาระที่เกี่ยวข้องก็ได้ การเลือกหน่วยในการวิเคราะห์เป็นหัวใจของการสังเคราะห์งานวิจัยโดยการวิเคราะห์เนื้อหา เพราะสามารถนำไปสู่ข้อค้นพบได้
- การจัดแยกหมวดหมู่และประเด็นหลักของกรณีศึกษาที่นำมาวิเคราะห์ โดยจำแนกตามข้อมูลที่ปรากฏ
- การวิเคราะห์ความต่อเนื่องหรือแตกต่างของสาระในหมวดหมู่ต่าง ๆ โดยอาศัยการนับความถี่ของข้อมูลในแต่ละหมวดหมู่
- ขั้นตอนในการดำเนินการสังเคราะห์งานวิจัยโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ได้แก่
1) อ่านและทำความเข้าใจรายงานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์
2) วางกรอบการจัดหมวดหมู่งานวิจัย และจัดแยกสาระงานวิจัยตามหมวดหมู่ที่กำหนด
3) วิเคราะห์เนื้อหารายงานการวิจัยแต่ละกลุ่ม ให้ได้ข้อสรุปตามหลักการสังเคราะห์งานวิจัย และเปรียบเทียบให้เห็นว่าผลการวิจัยในแต่ละกลุ่มสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร
อ้างอิง
- สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2551). การสังเคราะห์งานวิจัย แนวทางการส่งเสริมในการมีส่วนร่วมของเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.
ที่เกี่ยวข้อง (ผลงานนักศึกษา)
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
แนะนำ
[ 500146 สากล พรหมสถิตย์ : รายงาน ]