

ผลงานนักศึกษา (ปริทัศน์หนังสือ) วัฒนธรรมพีระมิดกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย
แพรพลอย ทนนุบล (630112801082@bru.ac.th) (คลิก)
ผลงานนักศึกษา (ปริทัศน์หนังสือ) วัฒนธรรมพีระมิดกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย โดย แพรพลอย ทนนุบล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ปริทัศน์หนังสือสรุปโดยย่อของแนวคิดหลักและเนื้อเรื่องของหนังสือของ ชนิดา จิตตรุทธะ
วัฒนธรรมทางสังคม : ธรรมชาติและความแตกต่าง
การศึกษาครั้งนี้ได้อาศัยลักษณะสำคัญของแบบแผนวัฒนธรรมทางสังคมที่เรียกว่า “ระยะห่างของอำนาจ” เนื่องจากวัฒนธรรมของสังคมบางแห่งมีความนิยมในเรื่องของอำนาจและยอมรับเรื่องของลำดับชั้นในการบังคับบัญชาว่ามีความสำคัญ ในขณะที่วัฒนธรรมของสังคมบางแห่งกลับให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิและความเท่าเทียมกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สังคมบางแห่งต้องการให้ประชาชนทุกคนมีอิสระภาพและมีเสรีภาพ แต่วัฒนธรรมของสังคมบางแห่งกลับมีความเชื่อและในความคิดที่ว่าคนส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพิงอาศัยผู้อื่น การศึกษาแบบแผนของวัฒนธรรมทางสังคมไทยโดยการวัด “ระยะห่างของอำนาจ” ในระดับต่าง ๆ จากทัศนคติของประชาชน เพื่อศึกษาว่าคนในสังคมไทยมีการรับรู้หรือความคิดเห็นต่อระยะห่างของอำนาจมากน้อยเพียงใดจะทำให้เข้าใจแบบแผนวัฒนธรรมอำนาจในสังคมไทยในเบื้องต้น ต่อมาลักษณะวัฒนธรรมอำนาจในสังคมที่มี “ระยะห่างของอำนาจ” แตกต่างกันจะมีผลต่อค่านิยมและพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคมแตกต่างกัน หากระยะห่างของอำนาจในสังคมมีมาก การเสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งก็ยิ่งน้อยลง
ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบเกี่ยวกับลักษณะของวัฒนธรรมทางสังคมของไทยกับการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งจำเป็นต้องอาศัยแบบแผนวัฒนธรรมทางสังคมที่มี “ระยะห่างของอำนาจ”ต่ำ การสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและข้อมูลเชิงประจักษ์ในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ และนำไปสู่การทำความเข้าใจแบบแผนวัฒนธรรมทางสังคมไทยและสภาวะหรือบริบทแวดล้อมทางสังคมไทย เนื่องจากจะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นทางออกเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยของสังคมไทยให้เข้มแข็งเช่นเดียวกับประเทศที่มีอารยธรรมและมีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า
วัฒนธรรมพีระมิดในสังคมไทย : บริบทสำคัญใน 4 มิติ
จากที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาในบทนี้ สรุปได้ว่า บริบทของวัฒนธรรมทางสังคมของไทยในมิติสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1) มิติด้านวัฒนธรรม 2) มิติด้านสังคมวิทยาประวัติศาสตร์ 3) มิติด้านการจัดองค์การทางสังคม 4) มิติด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ล้วนเป็นบริบทแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญที่เด่นชัดของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย 3 ประการ คือ 1) เป็นวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสับสนในตัวเอง เช่น การเป็นวัฒนธรรมที่แกว่งไปมาระหว่างความรักสงบกับการนิยมความรุนแรง หรือเป็นวัฒนธรรมที่เน้นความเป็นชายในเรื่องการครอบงำและการใช้อำนาจ แต่เวลาเดียวกันก็เป็นวัฒนธรรมที่เน้นความเป็นหญิงในเรื่องของการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่อ่อนไหว และยึดตัวบุคคลมากกว่าอาศัยหลักการที่เป็นเหตุผล หรือเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานอยู่ระหว่างแบบแผนของความรักอิสระแบบปัจเจกนิยม ไม่ชอบทำตามคำสั่งใคร แต่กลับไม่กล้าคิดหรือตัดสินใจ ต้องรอให้ผู้มีอำนาจสั่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมของการยอมตามแบบกลุ่มนิยม 2) ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมของไทยเช่นนี้เป็นสาเหตุสำคัญให้วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยค่อนข้างอ่อนและหลวม ไม่สามารถแสดงลักษณะหรือแบบแผนที่ชัดเจนและทำนายผลลัพธ์ได้ยาก 3) วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย เป็นวัฒนธรรมที่โน้มเอียงไปในแบบอำนาจนิยมซึ่งเป็นลักษณะของอำนาจนิยมที่อาศัยอุดมการณ์แบบชาตินิยมที่เป็นทางการเมืองหรือแบบชาตินิยมของของชนชั้นนำ
สังคมประชาธิปไตย ย่อมต้องมีวัฒนธรรมทางสังคมหรือวัฒนธรรมทางการเมืองบางประการที่ “ส่งเสริม” ให้เกิดพฤติกรรมทางการเมือง สถาบันทางการเมือง และการพัฒนาทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ขณะที่สังคมซึ่งมิได้มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นเพราะสังคมเหล่านั้นไม่มีพฤติกรรมทางการเมืองและไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ส่งเสริมการพัฒนาทางการเมืองและการทำให้เป็นประชาธิปไตย การที่คนในสังคมไทยเรียกร้องประชาธิปไตยและพยายามพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและก้าวหน้า ขณะที่ปัญหาสำคัญของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยมีอยู่หลายประการ อาทิ ความล้มเหลวเชิงระบบของระบอบประชาธิปไตยที่จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลรูปแบบที่หลากหลายของลัทธิอำนาจนิยมทั้งเก่าและใหม่ ความอ่อนแอของอำนาจประชาธิปไตยในไทย ตลอดจนการขาดประสบการณ์ที่สำคัญทางประชาธิปไตยทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคขัดขวางการฝังรากลึกของอำนาจประชาธิปไตยที่สืบเนื่องจาก “วัฒนธรรมอำนาจนิยม”
วัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมหรือวัฒนธรรมแบบแพนเค้ก
วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่งเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา ลักษณะทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และนิสัยประจำชาติจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนสมดุลในตัวเอง แต่เราไม่อาจคาดหวังว่าวิวัฒนาการนั้นจะเกิดขึ้นและเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีวัฒนธรรมที่จรรโลงประชาธิปไตยได้ในทันที กระบวนการทางวัฒนธรรมเป็นไปอย่างช้า ๆ และบางครั้งอาจจะหันเหไปในทิศทางที่ผิด หากวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมสามารถจรรโลงประชาธิปไตยในสังคมไทยให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ขณะที่บริบททางวัฒนธรรมของสังคมไทยในมิติต่าง ๆ กลับเป็นบริบทของวัฒนธรรมพีระมิดเสียเป็นส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมหรือวัฒนธรรมพีระมิดไปสู่วัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมหรือวัฒนธรรมแบบแพนเค้กย่อมต้องอาศัยการปรับตัวที่รุนแรงสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 กำลังต่อสู้ดิ้นรนไปสู่การทำให้เป็นสังคมประชาธิปไตย พลเมืองปัจจุบันที่มีการศึกษาเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจโลกซึ่งกำลังเคลื่อนมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาจนำสังคมไทยไปสู่บริบทที่เอื้อต่อการทำให้เป็นสังคมประชาธิปไตยได้มากยิ่งขึ้น สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องอาศัยผู้คนสมัยใหม่ที่มีค่านิยม ความคิด จิตใจ และการรับรู้ในเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน มีศักยภาพในความรู้เพียงพอและมีความพร้อมที่จะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมไปสู่วัฒนธรรมที่พึงประสงค์ ลักษณะวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมที่จะจรรโลงประชาธิปไตยได้ดีในทัศนะของผู้เขียน จึงหมายถึง “ลักษณะของวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงการมีระยะห่างของอำนาจต่ำ ได้แก่ วัฒนธรรมที่สนับสนุนให้ประชาชนมีอิสระและเสรีภาพ ซึ่งมีนัยถึงวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ส่งเสริมคุณค่าหรือปรัชญามนุษยนิยม และเป็นวัฒนธรรมในระบบคุณธรรมที่ลดการอุปถัมภ์ในระบบพวกพ้องลงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น เป็นวัฒนธรรมที่สนับสนุนความร่วมมือกันแบบทีมงานที่ลดอำนาจการรวมศูนย์ และเป็นวัฒนธรรมของความมีธรรมาภิบาลซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมความโปร่งใสและวัฒนธรรมความไว้วางใจ วัฒนธรรมที่มีระยะห่างของอำนาจต่ำจะเพิ่มความเท่าเทียมและเสรีภาพให้กับพลเมือง” ซึ่งเป็นลักษณะวัฒนธรรมที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะสามารถจรรโลงประชาธิปไตยของสังคมแห่งหนึ่งให้เข้มแข็งได้ รวมทั้งการทำให้เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย
ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือการกระตุ้นให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนให้มีการปลดปล่อยศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในระบบสังคมออก โดยอาศัยการกระจายอำนาจในหน้าที่หรือกลไกหลักและเพิ่มยุทธศาสตร์ นวัตกรรม การศึกษาและการออกแบบภายในสังคม สิ่งเหล่านี้ต้องใช้การกระจายและสนับสนุนให้เกิดศักยภาพที่ต่อเนื่องของสังคมในการทดลอง การเรียนรู้ ความกระตือรือร้น และการปรับเปลี่ยน วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราสามารถรับมือกับระบบราชการที่อุ้ยอ้ายใหญ่โต และวางรากฐานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์รวมถึงสังคมวิสาหกิจที่มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น วัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมหรือวัฒนธรรมแบบแพนเค้กดิ้นรนฟันฝ่าในสาระสำคัญเหล่านี้
การทำให้เป็นประชาธิปไตย : จุดหมายในฝันหรือความจริงที่เอื้อมถึง
ในบทนี้ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงคำว่า “การทำให้เป็นประชาธิปไตย” ในหลายมิติ เนื่องจากคำนี้เป็นคำสั้น ๆ ที่กินความหมายกว้างขวางและลึกซึ้งในหลายแง่มุม และเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมโดยที่หายุติไม่ได้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเกร็ดประวัติเกี่ยวกับกวีเกอเธที่เขียนจดหมายถึงเพื่อนว่า “ขอโทษที่รบกวนเวลาคุณด้วยจดหมายที่ยาว แต่วันนี้ผมไม่มีเวลาที่จะเขียนจดหมายสั้น ๆ” อันที่จริง เมื่อเขียนบทนี้ ผู้เขียนมีเวลาที่จะกระชับให้เนื้อความสั้นลงได้ แต่เนื่องจากคำว่า “การทำให้เป็นประชาธิปไตย” นั้นเต็มไปด้วยแง่มุมที่ล้วนมีความหมายซึ่งจำเป็นต้องรวบรวมไว้ เนื้อหาของบทนี้เลยยาวกว่าที่ผู้เขียนตั้งใจไว้
แนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลที่พัฒนาขึ้นภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยได้ส่งผ่านเข้ามาเป็นแนวคิดพื้นฐานของอุดมการณ์ประชาธิปไตยทั่วโลก แม้ลัทธิเสรีนิยมจะเป็นแนวคิดของการเปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรมในสังคมตะวัน ตกอันเป็นผลผลิตที่เกิดจากการล่มสลายของระบบศักดินาและการก้าวมาแทนที่ของตลาดหรือสังคมทุนนิยม แต่หากพิจารณาอุดมการณ์เสรีนิยมของ อิมมานูเอ็ล ค้านท์ (lmmanuel Kant, 2003) ที่ว่า “ไม่มีเหตุผลใดที่ดีพอสำหรับรัฐ สังคม องค์การ หรือปัจเจกบุคคลใด ที่จะเข้าแทรกแซงรัฐ สังคม องค์การ และปัจเจกบุคคลอื่น เพราะความเป็นเอกเทศของแต่ละหน่วยสำคัญเกินกว่าที่จะถูกสละเพื่อเป้าหมายเฉพาะหน้าในการคลี่คลายความขัดแย้งบางอย่าง” นั่นเท่ากับว่า การสร้างวัฒนธรรมทางสังคมที่มีเสรีภาพและสันติภาพอย่างถาวรนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้องอดทนและรอคอยจนกว่าการพัฒนาไปสู่ความเป็นเสรีประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นในรัฐแต่ละแห่ง หากเสรีประชาธิปไตยเป็นไปบนข้อสมมตินี้ ความมีเสรีภาพในทุกระดับจะต้องไม่ถูกแทรกแซง แสวงประโยชน์หรือถูกครอบงำจากระดับใด เห็นได้ว่า ข้อเสนอของค้านท์มีความเป็นตัวของตัวเองสูงเพราะตราบใดที่องค์การแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์การทั่วไป องค์การระดับรัฐ และองค์การระดับเหนือรัฐ ยังต้องการมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ก็เป็นการยากที่จะป้องกันการครอบงำ การแทรกแซงและการแสวงประโยชน์ที่เกิดขึ้น หากการพัฒนาให้เกิดเสรีภาพอย่างถาวรในระบบประชาธิปไตยจะค่อยเป็นค่อยไปดังที่ค้านท์กล่าว การทำให้เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในสังคมแห่งหนึ่งย่อมต้อง อาศัยเวลานานกว่าที่จะเป็นจริงได้
ระยะห่างของอำนาจ : เครื่องกีดขวางหรือสนับสนุนการทำให้เป็นประชาธิปไตย
จากทั้งหมดที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมทางสังคม วัฒนธรรมทางสังคมของไทย วัฒนธรรมอำนาจนิยมหรือวัฒนธรรมแบบพีระมิด วัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมหรือวัฒนธรรมแบบแพนเค้ก การทำให้เป็นประชาธิปไตย ระยะห่างของอำนาจ บริบทของวัฒนธรรมทางสังคมที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมการเมืองในมิติ 4 ด้าน และความสัมพันธ์ระหว่างระยะห่างของอำนาจกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดทั้งหมดที่ได้ศึกษานั้นมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและส่งผลแก่กันอย่างแยกไม่ออก มิติวัฒนธรรมทางสังคมเพียงเรื่องเดียวที่นำมาศึกษาคือมิติเรื่องของอำนาจนี้สามารถสะท้อนลักษณะของวัฒนธรรมอำนาจในสังคมไทยซึ่งมีรากฐานมาจากบริบททางสังคมไทยใน 4 มิติ อันส่งผลต่อไปยังวัฒนธรรมการเมือง การที่ลักษณะวัฒนธรรมการเมืองของไทยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากวัฒนธรรมทางสังคมของไทยที่ห่อหุ้มอยู่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตย ระดับการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อเรื่องระยะห่างของอำนาจในสังคมทั้ง 3 ระดับจะเป็นเครื่องสะท้อนว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม (วัฒนธรรมแบบพีระมิด) ที่กีดขวางการจรรโลงประชาธิปไตย หรือว่ามีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วม (วัฒนธรรมแบบแพนเค้ก) ที่ส่งเสริมการทำให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งตามข้อเสนอของฮอฟสตีด (Hofstede,1987) รอบบินส์ (Robbin, 2004) และ (House, 2004)
การทำให้เป็นประชาธิปไตยหรือการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วน อาทิ ปัจจัยพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ปัจจัยพัฒนาการทางการศึกษา ปัจจัยรัฐบาลและผู้นำที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ในความเห็นของผู้เขียน ปัจจัยเรื่องอำนาจเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในลำดับต้น เนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมืองที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้การกระจายอำนาจอย่างไม่เท่าเทียม หรือทั่วถึงในสังคมแห่งหนึ่ง ฮันทิงตัน (Huntington, 1991) เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการสร้างสถาบันทางการเมือง เพราะว่าหัวใจสำคัญของการทำให้เป็นประชาธิปไตยเกิดจากการที่ประชาชนได้มีเสรีภาพปราศจากอำนาจครอบงำ และมีจิตสำนึกในวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้ประชาธิปไตยของไทยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้
สำหรับในบทที่ 6 ซึ่งเป็นบทต่อไป จะเป็นการนำเสนอถึงวิธีการในการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมทางสังคมของไทยกับการทำให้เป็นประชาธิปไตยในครั้งนี้ เพื่อสำรวจว่าระดับการรับรู้และทัศนคติของประชาชนที่มีต่อเนื่อง “ระยะห่างของอำนาจ” ในสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร สะท้อนแบบแผนวัฒนธรรมทางสังคมแบบอำนาจนิยมตามข้อสมมติหรือไม่ และส่งผลต่อการทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร เพราะสาเหตุใด ข้อมูลที่สำรวจได้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้และทัศนคติที่ได้รับจากประชาชนทุกกลุ่มที่เป็นตัวแทนของประชาชนไทยทั้งประเทศ ยังคงมีความเห็นอีกมากเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องอำนาจในสังคมไทยที่อาจสำรวจพบได้จากการศึกษาปัจจัยอื่น หรือ ศึกษาเรื่องระยะห่างของอำนาจต่อไปในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้น แต่ระดับของการวัดระยะห่างของอำนาจในสังคมนั้นได้ทำการศึกษาให้ครอบคลุมแล้วทั้ง 3 ระดับ
วัฒนธรรมอำนาจนิยม : พีระมิด 3 ระดับ
การศึกษาวัฒนธรรมทางสังคมกับการทำให้เป็นประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่กว้างและอาจได้ข้อมูลที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก เนื่องจากทัศนคติหรือการรับรู้ของประชาชนในเรื่องวัฒนธรรมของสังคมไทยกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำให้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนไทยแต่ละกลุ่มหรือแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันในระดับที่กว้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการดังนั้น วิธีการในการได้ข้อมูลมาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับในการศึกษาข้อมูลครั้งนี้ ผู้เขียนได้ใช้ทั้งการทดสอบแบบสอบถามและการสัมภาษณ์โดยวิธีการทั้งสองวิธีได้อาศัยเครื่องมือที่ปรับสร้างขึ้นอย่างระมัดระวังและมีความตรงเชิงโครงสร้างจากหลักเกณฑ์ในข้อเสนอทางทฤษฎีวัฒนธรรมในการจัดแบ่งของฮอฟสตีด โดยผู้เขียนได้เน้นที่ประเด็นของมิติวัฒนธรรมในเรื่องระยะห่างของ “อำนาจ” เพียงมิติเดียว เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าปัจจัยวัฒนธรรม “อำนาจ” เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้พบอุปสรรคบ้างในประเด็นความขัดแย้งซึ่งโยงกับการเมืองในสังคม สำหรับในบทที่ 7 ซึ่งเป็นบทต่อไป เป็นการกล่าวถึงสภาวะของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ผู้เขียนสำรวจได้จากการสอบถามและการสัมภาษณ์
วัฒนธรรมทางสังคมเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้นำต้องการที่จะผลักดันให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและสร้างค่านิยมประชาธิปไตยให้นำหน้าค่านิยมอื่นจนเกิดเป็นแบบแผนหรือวัฒนธรรมทางการเมืองที่หยั่งรากประชาธิปไตยลงลึก การสั่งสมประสบการณ์ที่สำคัญของประชาธิปไตย และการรับภาระหน้าที่อย่างจริงจังในการสร้างคุณค่าประชาธิปไตยในท่ามกลางบรรดาผู้นำทางการเมืองของไทยจะช่วยให้ต้นทุนทางวัฒนธรรมการเมืองค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นได้ การให้ประชาชนมีความรู้ทางการเมืองและตระหนักในความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองของตนอย่างจริงจังจะทำให้ประชาชนเกิดความเต็มใจเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่การมีส่วนร่วมทางการเมืองวิธีเดียว กลไกหรือการขยายตัวของพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อทำให้ประชาธิปไตยเข็มแข็งนั้น ต้องไม่ถูกชี้นำหรือถูกตีกรอบโดยรัฐ แต่ต้องนิยามในความหมายที่กว้างและสะท้อนออกในการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำประชาพิจารณ์ การทำให้กลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มกดดันมีความเข้มแข็ง การมีหน่วยงานภาคเอกชนหรือประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐได้ เช่น กลุ่มเฝ้าระวัง (watchdogs) กลุ่มสื่อใหม่ (new media) ฯลฯ รวมทั้งการมีอิสระในการพูด การเขียน การพิมพ์ หรือการใช้สื่อในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความต้องการทางการเมืองของประชาชน การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชน ฯลฯ หรือในระดับของการเมืองทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นก็ต้องกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นโดยการสนับสนุนพฤติกรรมทางการเมืองที่ให้อิสระกับประชาชนและท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจออกจากการผูกขาดไว้ที่ศูนย์รวมอย่างที่เป็นอยู่ เพื่อให้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบนายทุนและเจ้าพ่อซึ่งเป็นลักษณะของรูปแบบพฤติกรรมทางการเมืองของสังคมไทยอ่อนอำนาจลง
สภาวะของการทำให้เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย
จากข้อค้นพบที่ผู้เขียนได้นำเสนอมาทั้งหมดข้างต้น เป็นการยืนยันถึงวัฒนธรรมทางสังคมของไทยที่มีลักษณะของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งนำไปสู่ความอ่อนแอของประชาธิปไตย และทำให้พบปัจจัยซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำให้เป็นประชาธิปไตย โดยมีบริบทของวัฒนธรรมทางสังคมทั้ง4 มิติ เป็นปัจจัยรองรับ และส่งผลต่อไปถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เอื้อต่อการทำให้เป็นประชาธิปไตยสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนต้องการที่จะนำเสนอปัจจัยที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงขึ้น ได้แก่ วัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมหรือวัฒนธรรมแบบแพนเค้ก ในกรณีของไทยนั้น จำเป็นต้องพิจารณพัฒนาการของสถาบันทางการเมืองจำนวนหนึ่งซึ่งพัฒนาขึ้นในชาวงระยะเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยครึ่งใบสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ เพื่อไม่ให้เกิดการย้อนกลับสู่สภาวะไม่เป็นประชาธิปไตยอีกอาทิ พฤษภาทมิฬ พัฒนาการทางเศรษฐกิจก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำให้ประชาธิปไตยมีความเป็นไปได้ รวมทั้งการมีผู้นำทางการเมืองที่ตระหนักในคุณค่าประชาธิปไตย อย่างแท้จริงจึงทำให้ประชาธิปไตยเป็นจริง ผู้นำทางการเมืองไทยในอนาคตจะต้องมีความเชื่อในระดับต่ำสุดว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นรูปแบบที่เลวร้ายน้อยที่สุดของรัฐบาลสำหรับสังคมของตน ชนชั้นผู้นำยังคงต้องมีความตั้งใจจริงและพัฒนาทักษะในการนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอีกด้วย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับพวกที่ต่อต้านอย่างรุนแรงและกลุ่มของพวกอำนาจนิยมภายใน เพราะ ว่าการทำให้เป็นประชาธิปไตยจะพัฒนาไปได้ ต่อเมื่อสังคมหรือประเทศนั้นมีผู้นำและประชาชนที่มีความต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
วัฒนธรรมอำนาจนิยมกับการดิ้นรนสู่การทำให้เป็นประชาธิปไตย
นับเป็นเวลากว่าศตวรรษครึ่งหลังจากที่อเล็กซิส เดอ ท็อคเคววิลล์ (Alexis de Tocqueville,1994) ได้สังเกตเห็นการปรากฏออกของประชาธิปไตยสมัยใหม่ในอเมริกา คลื่นแห่งความสำเร็จของวัฒนธรรมแห่งความเป็นประชาธิปไตยสามารถชะล้างไปเหนือริมฝั่งของการปกครองแบบเผด็จการและส่งเสริมให้แข็งแกร่งด้วยกระแสของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น คลื่นประชาธิปไตยแต่ละระลอกนั้นยังคงพัดก้าวหน้าต่อไปและมีจังหวะถอยร่นลงน้อยกว่าคลื่นลูกแรก ๆ ในทำนองเดียวกัน หนทางประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไทยไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบเรียบเป็นเส้นตรง และยังไม่ได้มีพัฒนาการเติบโตก้าวหน้ามากไปมากนัก แต่หากได้ผู้นำที่มีจิตใจเป็นนักปฏิรูปประชาธิปไตย มีคุณธรรม มีทักษะและกล้าตัดสินใจเป็นผู้ถือหางเสือ ร่วมมือกันกับประชาชนที่มีวัฒนธรรมแห่งเสรีภาพอย่างแท้จริงวัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะถอยร่นและลดความแรงลง และประชาธิปไตยของไทยก็จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ในลักษณาการเดียวกัน
อ้างอิง
- ชนิดา จิตตรุทธะ. (2559). วัฒนธรรมพีระมิดกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
การปริทัศน์หนังสือเป็นการสรุปใจความสำคัญของหนังสือ เป็นการประเมินเป็นลายลักษณ์อักษรของหนังสือที่นำเสนอ โดยการนำเสนอเนื้อหาสรุปและการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของหนังสือ กล่าวคือ การสรุปโดยย่อของแนวคิดหลักและเนื้อเรื่องของหนังสือ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านในการตัดสินใจว่าจะอ่านหนังสือหรือไม่
ที่เกี่ยวข้อง
- โครงการการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อการทำงานและการเขียนหนังสือราชการ
- ปฐมนิเทศก่อนฝึกประสบการณ์ในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์และหน่วยงานในมหาวิทยาลัย
- เตรียมฝึกประสบการณ์
- Sites63
ติดตามข่าวสารอื่นๆ