

ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ : การเลือกตั้ง ส.ส. 2566 [1]
ศส.ปชต.ในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
[ Center for Democratic Development Buriram Rajabhat University ]
โครงการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เตรียมความพร้อม ศส.ปชต. สู่การเลือกตั้ง ส.ส. 2566 โดย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์
หลักการสำคัญ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 78 “รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 22 (5) “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
- ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง “กำหนดแนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ และการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
- แผนปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง “การส่งเสริมพัฒนาพรรคการเมือง การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองคุณภาพ”
ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
[ Center for Development Buriram Rajabhat University ]
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์
เรื่อง ตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
โดยเป็นการสมควรให้มีศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยในสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในตำบลและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ในการเผยแพร่วิชาการ การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการศึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การพัฒนาการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ส่งเสริมการตรวจสอบการเลือกตั้ง การส่งเสริมให้ประชาชน ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การขยายและพัฒนาเครือข่ายให้เข้ามาช่วยเหลือการเลือกตั้ง รวมทั้งสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้เกิดขึ้นกับประชาชน ตลอดจนทำหน้าที่พลเมืองดีพิทักษ์รักษาสิทธิของตนเอง ของผู้อื่น ของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ด้วยวิถีทางระบอบประชาธิปไตย และดำเนินการอื่นตามที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมอบหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย พ.ศ. 2560 จึงประกาศตั้งศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยมีสถานที่ทำการตั้งอยู่ ณ อาคาร 6 ชั้น 2 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ประกาศ ณ วันที่ 10 เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2562
นายเกรียงศักดิ์ วงศ์เลิศประยูร
(นายเกรียงศักดิ์ วงศ์เลิศประยูร)
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์
เป้าหมายของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.)
- เป็นศูนย์กลางการพัฒนาประชาธิปไตย
- สร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งแก่ประชาชนและเยาวชน
- ส่งเสริมกิจกรรมประชาธิปไตย
- สร้างและขยายเครือข่ายพลเมือง
- มีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง
ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ในจังหวัดบุรีรัมย์
- จำนวน 190 ศูนย์ [ 189 ศูนย์ฯ ตำบล และ 1 ศูนย์ฯ ม.ราชภัฏบุรีรัมย์]
- กรรมการศูนย์ ศส.ปชต. รวม 3,202 คน
การขับเคลื่อน ศส.ปชต. ร่วมกับองค์กรเครือข่าย 6 หน่วยงาน
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงสาธารณสุข
- กระทรวงอุดมศึกษาฯ
- กระทรวงพัฒนาสังคมฯ
- สถาบันพระปกเกล้า
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564
- ส.ส. จำนวน 500 คน
- แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน (400 เขต ๆ ละ 1 คน รวม 400 คน)
- บัญชีรายชื่อ 100 คน (1 บัญชี/พรรค ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง)
- บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (ระบบผสมเสียงข้างมาก)
- แบ่งเขตเลือกตั้ง 1 ใบ
- บัญชีรายชื่อ 1 ใบ
- เวลาลงคะแนน 08.00-17.00 น.
เลือกตั้งคุณภาพ โดยพลเมืองคุณภาพ
คู่มือประชาชน “พลเมืองคุณภาพ”
[ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ]
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำว่า “ประชาธิปไตย” มาจากคำสองคำ คือ “ประชา + อธิปไตย” หมายถึง อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น หัวใจของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ “ประชาชน” ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย “พระมหากษัตริย์” ในฐานะองค์ประมุข “รัฐธรรมนูญ” ในฐานะกติกาสูงสุดของประเทศ และ “การเลือกตั้ง” เป็นกลไกหรือช่องทางในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน
ความสำคัญและประโยชน์ของรัฐธรรมนูญ
“รัฐธรรมนูญ” มีความสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะถือเป็น “กติกาสูงสุดในการปกครองประเทศหรือรัฐ” จึงเป็นแหล่งที่มาของอำนาจทั้งปวง โดยประชาชนยินยอมให้รัฐใช้อำนาจแทน ขณะที่รัฐต้องรักษาเจตนารมณ์ของประชาชนเอาไว้ด้วยการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ การแสดงความคิดเห็น เป็นต้น รวมทั้งประโยชน์ร่วมกันอื่นๆ ของประชาชนไว้
การปกครองระบอบประชาธิปไตย หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ประชาชน” ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญจึงให้อำนาจประชาชนในการเลือกตัวแทน กำหนดผู้ใช้อำนาจทางการเมืองหรือสถาบันทางการเมือง ได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล หรือหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชน
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
- มีเจตนารมณ์ชัดเจน มีเจตจำนง หรือเหตุผล รวมถึงอุดมการณ์แห่งชาติในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
- มีการกำหนดรูปแบบของรัฐ กลไกการใช้อำนาจของรัฐ ดัง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 1 “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 3 ” อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย…..”
- มีการกำหนดหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยไว้อย่างชัดเจนและอธิบายความสัมพันธ์แห่งอำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา) อำนาจบริหาร (รัฐบาล) และอำนาจตุลาการ (ศาล) ทั้งในแง่การตรวจสอบและถ่วงดุลกัน รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของรัฐและกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
- มีหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองบุคคล เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน หน้าที่ของประชาชนพึงมีต่อรัฐ การรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ความเป็นไปของการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้ประชาชนมีสิทธิร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานรัฐและองค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- สำนักพัฒนาเครือข่ายการเลือกตั้ง. (2565). คู่มือประชาชน “พลเมืองคุณภาพ” (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.
- สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์. (2566). โครงการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) : เตรียมความพร้อม ศส.ปชต. สู่การเลือกตั้ง ส.ส. 2566. บุรีรัมย์ : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์.
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. (2560, 6 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (40ก), 1-94.
- ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565. (2565, 24 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (40ก), 21-27.
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
- รัฐธรรมนูญ 2560
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กกต.
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเลือก ส.ส.
- ระเบียบ กกต. ว่าด้วย ศส.ปชต.
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง
- กิจกรรมศูนย์ฯ1
- กิจกรรมศูนย์ฯ2
- กิจกรรมศูนย์ฯ3
- กิจกรรมศูนย์ฯ4
- กิจกรรมศูนย์ฯ5
- กิจกรรมศูนย์ฯ6
- กิจกรรมศูนย์ฯ7
- กิจกรรมศูนย์ฯ8
- กิจกรรมศูนย์ฯ9
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th