เก็บมาบอก : ธรรมาภิบาลในการประชุม – อปริหานิยธรรมกับการบริหารองค์กร
[ไอ เอ็ม บุ๊คส์. (2551). ปฏิวัติการประชุม. กรุงเทพฯ : ไอ เอ็ม บุ๊คส์.]
#ปฏิสังขรณ์ สอพอรัมย์#
วันอาสาฬบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
คำนิยาม
การประชุม คือ การสื่อสารอย่างหนึ่งซึ่งบุคคลพบปะกันตามกำหนดนัดหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆกัน อาทิ เพื่อปรึกษาหารือ ร่วมกันตัดสินใจ รับทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ข้อเสนอแนะหรือนโยบายต่างๆ
รูปแบบ
- การประชุมเฉพาะกลุ่ม
- การประชุมสามัญ
- การประชุมลับ
- การประชุมปรึกษาา
- ประชุปฏิบัติการ
- การสัมมนาหรือการประชุมสัมมนา
- การประชุมใหญ่
- การประชุมสาธารณะ
ศัพท์
- การดำเนินการประชุม
- ระเบียบวาระ
- กำหนดการประชุม
- การสื่อสารในที่ประชุม
- เสนอ
- ข้อเสนอ
- สนับสนุน
- คัดค้าน
- อภิปราย
- มติของที่ประชุม
- บุคลากรในการประชุม
- ผู้จัดประชุม
- ผู้มีสิทธิ์เข้าประชุม
- ผู้เข้าประชุม
- องค์ประชุม
- ประธาน
- รองประธาน
- เลขานุการ
- ผู้ช่วยเลขานุการ
- กรรมการ
- คณะอนุกรรมการ
- เหรัญญิก
- ประชาสัมพันธ์
- ประธานฝ่ายฯ
- พิธีกร
- ที่ประชุม
ธรรมาภิบาลในการประชุม
หากเราจะมองย้อนประวัติศาสตร์ของการประชุมว่าการประชุมครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นตอนไหน อาจกล่าวได้ว่านานเท่านานตั้งแต่สมัยยุคหินเลยก็ได้ ตามหลักฐานทางด้านโบราณคดีนั้น
แรกเริ่มมนุษย์อยู่กันตาป่าเขาและถ้ำหิน ยังไม่รู้จักการใช้คำพูด ทั้งยังดำรงชีวิตอยู่เพียงเพื่อความอยู่รอดไปวันๆ ต่อมาเมื่อมนุษย์พัฒนาจนมีภาษาใช้ จึงเริ่มเกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อผลประโยชน์ในการอยู่รอด และเพื่อให้การคุ้มครองแก่กันและกัน ทั้งในด้านอาหาร ความปลอดภัย และด้านจิตใจ รวมทั้งเริ่มรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์น่าจะเริ่มประชุมกันตั้งแต่สมัยนั้น โดยการประชุมในระยะแรกอาจเป็นการชุมนุมเพื่อแจ้งข่าวสารหรือปรึกษาหารือกันในระดับผู้นำ
ต่อมามนุษยชาติได้พัฒนารูปแบบการประชุมขึ้นมาเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการทางด้านอารยธรรมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก การประชุมรวมกลุ่มที่นับได้ว่ามีชื่อเสียงและเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยก็คือ การเข้าประชุมสภาของชายอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในรัฐเอเธนส์ ประเทศกรีซโบราณ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของมนุษย์ที่เห็นว่าการประชุมออกความเห็นร่วมกันมีความสำคัญ เป็นการให้คุณค่าของการทำงานเป็นทีมและยอมรับความสามารถและประสบการณ์ซึ่งมีแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล กล่าวได้ว่าการประชุมรัฐสภานี้เป็นต้นแบบให้ประเทศอังกฤษนำไปใช้และพัฒนาจนกลายมาเป็นประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน
ในซีกโลกตะวันออกที่เต็มไปด้วยแหล่งขุมทรัพย์ทางปัญญาก็กล่าวถึงระเบียบ วิธีการ และคุณค่าของการประชุมไว้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในพุทธศาสนานั้น มีสุภาษิตภาษาบาลีบทหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความสามัคคีของหมู่คณะนำความสุขมาให้” ซึ่งการประชุมก็ถือเป็นการแสดงออกซึ่งความสามัคคีทางหนึ่ง
เนื่องจากการประชุมเป็นการแสดงถึงการให้เกียรติกันและกัน และในการลงมติยังแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะเมื่อขั้นตอนการนำไปใช้ แม้ในใจยังไม่เห็นด้วยเต็มร้อย แต่ในเมื่อเป็นมติของที่ประชุมก็จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่และเคร่งครัด สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีอย่างไม่ต้องสงสัย
นอกจากนั้น ในมหาปรินิพพานสูตร ยังมีหลักธรรมบทหนึ่งที่กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมไว้อย่างชัดเจน หลักธรรมดังกล่าวคือ อปริหานิยธรรม ธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม 7 ประการ แบ่งอธิบายเป็นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า ภิกขุอปริหานิยธรรม และสำหรับผู้ครองเรือนทั่วไปเรียกว่า ลิจฉวีอปริหานิยธรรม หรือ วัชชีอปริหานิยธรรม ที่เรียกดังนี้เพราะว่าหลักธรรมดังกล่าวเป็นหลักธรรมที่กษัตริย์ลิจฉวีประเพฤติอย่างเคร่งครัด
การแตกความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี
ในสมัยพุทธกาล บริเวณที่เป็นเนปาลและอินเดียในปัจจุบันแบ่งออกเป็นแคว้นใหญ่น้อยมากมาย ในแต่ละแคว้นมีระบอบการปกครองแตกต่างกัน บ้างก็เป็นแบบกษัตริย์ปกครองเป็นใหญ่แต่เพียงพระองค์เดียว บ้างก็เป็นระบอบรัฐสภาโดยกลุ่มกษัตริย์ แคว้นเหล่านี้มักรบพุ่งเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่อยู่เสมอ
และในสมัยนั้น แคว้นมคธ ปกครองโดยกษัตริย์นามว่าอชาติศัตรู ต้องการเป็นใหญ่เหนือแคว้นวัชชี ที่ปกครองโดยระบอบรัฐสภาของกษัตริย์ลิจฉวี แต่ไม่ว่าจะพยายามบุกโจมตีเข้าไปเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถตีฝ่ายึดเอาแคว้นนี้มาไว้ในครอบครองได้
ในกาลนั้น พระเจ้าอชาติศัตรูมีปุโรหิตที่ปรึกษาคู่ใจอยู่ชื่อว่า วัสสการพราหมณ์ เมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นดังนี้ วัสสการพราหมณ์จึงเสนอตนเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร วัสสการพราหมณ์ถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า มีวิธีใดบ้างที่จะสามารถบุกเข้ายึดแคว้นวัชชีได้ พระพุทธเจ้ามิทรงตอบโดยตรง แต่ทรงยกย่องกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายว่า ประกอบอยู่ในธรรมอันมีชื่อว่า อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม 7 ประการ ได้แก่
- หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
- พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
- ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่ได้บัญญัติ ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม
- ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง
- บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายมิให้อยู่อย่างถูกข่มเหงรังแก
- เคารพสักการบูชาเจดีย์ของวัชชี ทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยการทำธรรมิกพลี
- จัดให้ความอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ (หมายถึงบรรพชิตที่เป็นหลักใจของประชาชน) ตั้งใจให้ท่านที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่โดยผาสุก
พระพุทธองค์ทรงย้ำว่าหากกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายยังคงยึดมั่นอยู่ในธรรมเหล่านี้ ความเสื่อมย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้
เมื่อวัสสการพราหมณ์ได้ยินดังนี้แล้ว จึงกลับไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ออกอุบายเพื่อที่จะทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี รุ่งเช้าพระเจ้าอชาตศัตรูจึงเรียกประชุมเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่ แล้วถามความเห็นจากสภาว่าพระองค์ควรจะยกทักไปตีแคว้นวัชชีได้หรือยัง เสนาอำมาตย์ทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันและกราบทูลกลับไปว่าสมควรแล้ว มีแต่วัสสการพราหมณ์เท่านั้นที่กล่าวทัดทาน ทั้งยังให้เหตุผลว่าทหารของแคว้นมคธยังไม่เข้มแข็งมากพอ เมื่อได้ยินดังนั้นแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูทรงพิโรธมาก สั่งให้ทหารจับวัสสการพราหมณ์โบยต่อหน้ามหาชนแล้วขับไล่ออกนอกเมืองไป
เมื่อเป็นดังนี้ วัสสการพราหมณ์จึงซมซานเดินทางไปยังแคว้นวัชชี เข้าไปร้องทุกข์ต่อกษัตริย์ลิจฉวี บรรยายความไม่เป็นธรรมและชีวิตที่อาภัพของตน กษัตริย์ลิจฉวีเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่คนทั่วไปโจษจันกัน ทั้งวัสสการพราหมณ์เป็นคนที่มีความสามารถ จึงตัดสินใจรับวัสสการพราหมณ์ไว้ในฐานะราชครู ให้ความรู้และการศึกษาแก่ราชบุตรทั้งหลาย
วัสสการพราหมณ์ทำหน้าที่ด้วยความอุตสาหะอย่างยิ่ง ได้ให้การอบรมสั่งสอนราชบุตรทั้งหลายเป็นอย่างดี ถ่ายทอดวิทยาการทั้งความรู้ทางด้านปรัชญา พระเวท การใช้อาวุธและศิลปะวิทยาการทั้งมวลอันกษัตริย์ในสมัยนั้นพึงรู้ ทั้งยังได้ช่วยเป็นที่ปรึกษางานราษฎร์งานหลวงน้อยใหญ่ บรรดากษัตริย์ลิจฉวีต่างพอใจยิ่งและยังมอบความไว้วางใจในเรื่องราวหลายๆ เรื่องให้กับวัสสการพราหมณ์ด้วย
เวลาล่วงเลยไปจนถึงปีที่ 3 เมื่อวัสสการพราหมณ์แน่ใจแล้วว่าพวกกษัตริย์ลิจฉวีไว้วางใจตนอย่างถึงที่สุดแล้ว จึงเริ่มดำเนินการตามแผนที่ได้วางเอาไว้ โดยใช้วิธีทำให้ราชบุตรทะเลาะกันเอง วัสสการพราหมณ์อาจเรียกลูกศิษย์ของตนเข้าไปพบแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ทำนัยเหมือนจะถ่ายทอดวิชาลับบางอย่างให้แก่ศิษย์คนนั้น แต่ว่าก็ไม่ทำอะไรมากไปกว่านั้น เมื่อกุมารคนหนึ่งออกมาเจอกุมารคนอื่นแล้วถูกซักถาม ก็ตอบว่าไม่มีอะไร ทำให้กุมารคนอื่นพลอยคิดไปว่าเก็บเป็นความลับ จึงเกิดความหนางแหนงใจขึ้น และในบางครั้ง วัสสการพราหมณ์ก็แสร้งปั้นเรื่องว่ากุมารคนโน้นเคยกล่าวถึงกุมารคนนี้อย่างนี้ เสมือนหนึ่งพวกเขาว่าร้ายนินทากัน บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกันก็เกิดขึ้น และแน่นอนว่าบรรยากาศที่ว่านี้ลามไปถึงบรรดากษัตริย์ลิจฉวีที่เป็นพ่อแม่ของกุมารเหล่านั้น ความแตกแยกระหองระแหงนี้เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การประชุมที่กษัตริย์ลิจฉวีเข้าร่วมเป็นเนือยนิตย์ก็มีคนมาร่วมน้อยลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายแทบไม่มีกษัตริย์ลิจฉวีใดเลยมาเข้าร่วมประชุม
เมื่อวัสสการพราหมณ์เห็นดังนั้น จึงได้ส่งจารบุรุษไปบอกความแก่พระเจ้าอชาตศัตรูถึงสถานการณ์ความแตกสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทราบความดังนี้แล้ว จึงได้จัดทัพยาตรามายังแคว้นวัชชีโดยเร็ว พอถึงประตูเมือง เมื่อทหารยามเฝ้าประตูเมืองเห็นกองทัพศัตรูมาจึงตีกลองศึกให้รับรู้ไปทั่ว แต่ว่าก็ไม่มีกษัตริย์ลิจฉวีพระองค์ใดมากประชุมยังสภา ไม่มีใครสั่งจัดทัพ หรือแม้แต่สั่งให้ปิดประตูเมือง กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูจึงสามารถเข้ายึดแคว้นวัชชีได้โดยง่าย
จากนิทานเรื่องนี้เราสามารถเห็นได้ชัดเจนถึงความสำคัญในการประชุมและความสามัคคีในหมู่คณะ หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วไม่ว่าจะเป็นในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนหรือแม้แต่กลุ่มต่างๆ ย่อมไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตนต้องการเป็นแน่นอน
อปริหานิยธรรม 7
- ประชุมเนืองนิตย์
- เริ่ม เลิกประชุม พร้อมเพรียง
- ยอมรับมติที่ประชุมในการแก้ปัญหา
- ยอมรับ เคารพ ผู้อาวุโส
- ดูแล สงเคราะห์ ผู้ด้อยโอกาส
- ส่งเสริม รักษา ประเพณี วัฒนธรรม
- ส่งเสริม ทำนุ บำรุง ศาสนา
ข้อสังเกต
-
การเลือกใช้บุคคลให้เหมาะสมกับงานจะทำให้งานสำเร็จได้ด้วยดี
-
การใช้วิจารณญาณไตร่ตรองก่อนทำการใดๆ เป็นสิ่งที่ดี
-
การหูเบา ด่วนตัดสิน โดยมิได้ใช้เหตุผล สอบถามเบื้องหน้าเบื้องหลังของปัญหาจากทุกด้าน ทำให้การงานล่มสลายได้ เพราะเกิดความขัดแย้งกัน
อปริหานิยธรรมกับการบริหารองค์กร
[ไอ เอ็ม บุ๊คส์. (2551). ปฏิวัติการประชุม. กรุงเทพฯ : ไอ เอ็ม บุ๊คส์.]
ธรรมะเป็นอกาลิโก กล่าวคือ ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ผู้ใดนำไปปฏิบัติย่อมเห็นผลของธรรมะนั้นๆ กล่าวได้ว่าเป็นประโยคที่เป็นความจริงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับอปริหานิยธรรมทั้ง 7 ข้อ สามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารองค์กรได้อย่างสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกัน สามารถนำหลักอปริหานิยธรรมไปประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กรได้ ดังนี้
-
หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
ความมุ่งหมายเดิมของธรรมะข้อนี้ก็คือ ให้ทุกคนที่มีหน้าที่ได้เข้าร่วมประชุมหารือกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าของกิจการงานต่างๆ ต้องลองมองย้อนไปถึงยุคสมัยก่อน กษัตริย์แต่ละคนล้วนมีทิฐิสูง เนื่องจากเห็นว่าตนก็เป็นผู้รอบรู้ในศิลปศาสตร์ไม่แพ้คนอื่นๆ งานในส่วนที่ตนรับผิดชอบเพียงความรู้ความสามารถของตนก็สามารถทำได้สำเร็จแล้ว ความคิดดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้องนัก เนื่องมาจากหากคนคนเดียวทำงานของตนในมุมมองของตนเพียงคนเดียว ขอบเขตหรือวิสัยทัศน์ของงานนั้นๆ จะออกมาค่อนข้างแคบ และอาจไม่เป็นไปในทางเดียวกับองค์รวม
การประชุมเพื่อหารือแนวทางร่วมกันจึงมีความจำเป็น นอกจากจะสามารถทำให้งานออกมาเป็นแนวเดียวกันแล้ว ยังอาจได้มุมมองหรือแนวคิดใหม่ๆ มาจากคนอื่นไปปรับปรุงพัฒนางานของตนเองได้
แต่ในองค์กรปัจจุบัน เหตุการณ์กลับเป็นไปทางตรงกันข้าม เพราะพวกเราดูเหมือนจะเสพติดการประชุม ประชุมกันมากเกินไปจนกินเวลาทำงานไปมาก
ดังนั้น คำว่า “การประชุมกันเนืองนิตย์” จึงแปลได้ว่า ประชุมให้บ่อยตามความเหมาะสม ซึ่งความเหมาะสมที่ว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับเนื้องานและปริมาณงานในแต่และองค์กร
โดยสรุปก็คือ ต้องประชุมหารือกันเป็นประจำ แต่ความถี่ดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การจัดให้มีการประชุมหลายรูปแบบด้วยวัตถุประสงค์ต่างกัน ใช้เวลาต่างกัน และมีความถี่ต่างกันดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น ก็เป็นการแก้ปัญหาการประชุมบ่อยเกินไปหรือน้อยเกินไปได้ในระดับหนึ่ง
-
พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
ธรรมข้อนี้ต่อยอดมาจากข้อ 1 กล่าวคือ เมือเรามาประชุมกันเป็นประจำในรูปแบบที่ได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ต้องมีวินัยในการเข้าร่วมประชุม และต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
หลักธรรมข้อนี้แสดงให้เห็นว่าในการทำกิจใดๆ นั้น วินัยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หากขาดวินัยเสียแล้ว แม้จะได้ประชุมพร้อมกันบ่อยแค่ไหนก็ไม่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ขึ้นมาได้ จึงกำหนดให้การเริ่มและเลิกประชุมต้องทำอย่างพร้อมเพรียง ทั้งต้องทำกิจอันพึงทำ
สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในองค์กร ถือว่าเป็นแก่นที่มีความสำคัญมากที่สุดเลยก็ได้ เนื่องจากในปัจจุบันเราประชุมกันมากต่อมาก มากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการประชุมมากต่อมากไม่ประสบความสำเร็จ นั่นเป็นเพราะผู้เข้าร่วมประชุมขาดวินัยในการเข้าประชุมต่างหาก พวกเรามักจะเคยชินและคิดว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและสไตล์การทำงานของคนไทย ที่ทำอะไรง่ายๆ สบายๆ อาจสายบ้างเป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่เราเองก็ต้องพยายามเอาชนะความเคยชินเหล่านี้ให้ได้
โดยอาจใช้กลวิธีปราบคนมาสายและเมื่อสามารถทำให้ทุกคนมาประชุมได้พร้อมกันแล้ว ก็ต้องพยายามให้เลิกพร้อมกัน แม้โดยทั่วไปแล้วเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา แต่จุดสำคัญคือต้องพยายามเลิกประชุมตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยสามารถบรรลุเป้าหมายของการประชุมให้ได้ นั่นเป็นหน้าที่ของที่ประชุมว่าจะบริหารเวลาอย่างไรให้เกิดผลสูงสุด พยายามตัดสิ่งที่ทำให้การประชุมยึดเยื้อออกไป นอกจากนั้น หากได้มติในที่ประชุมแล้ว ทุกคนต้องเห็นด้วยและนำไปปฏิบัติอย่างกระตือรือร้น
โดยสรุปหาเรามีวินัยในการเข้าร่วมประชุม พยายามดำเนินการประชุมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนำมติที่ได้ไปดำเนินการต่ออย่างสุดความสามารถ ความสำเร็จของการประชุมย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
-
ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่ได้บัญญัติ ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม
ในสมัยโบราณ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ประชาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่อาจออกนอกลู่นอกทางได้อย่างเด็ดขาด แท้จริงธรรมเนียมหรือกฎเหล่านี้ มิได้ตั้งขึ้นตามอำเภอใจหรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อความไม่วุ่นวายของสังคมส่วนใหญ่ต่างหาก หากว่าผู้มีอำนาจ เมื่อถึงสมัยตนเป็นใหญ่ กลับไปปรับเปลี่ยนระบบระเบียบหรือหลักเกณฑ์ใดๆ ก็ตามตามใจชอบ ย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควรแน่นอน
ส่วนในสมัยปัจจุบัน เป็นสมัยแห่งเสรีภาพ ทุกคนมีอิสระทางความคิดและการกระทำ แต่การปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรหรือสังคมก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เพื่อความสงบเรียบร้อยของคนกลุ่มใหญ่ การที่คนหนึ่งทำผิดกฎอาจนำไปสู่การเลียนแบบในทางที่ผิดได้
แต่ถึงกระนั้น ก็มิได้หมายความว่าจำเป็นต้องทำตามกฎระเบียบเดิมๆ ไปโดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่าสังคมเปลี่ยนไปทุกวัน มีวิทยาการและความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎระเบียบบางอย่างที่ล้าสมัยเกินไปหรือไม่ชัดเจนเพียงพอก็เป็นสิ่งที่อาจพึงประพฤติได้ แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบที่ใช้กันมาแต่เดิมนั้น จำเป็นต้องคิดให้ถี่ถ้วน เทียบผลดีผลเสียระหว่างวิธีการเก่าและวิธีการใหม่ และแน่นอนว่าต้องผ่านการเห็นชอบจากคนส่วนมากเสียก่อน
สรุปแล้ว เราควรปฏิบัติตนตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่หากต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่อาจทำได้ แต่ต้องประกอบไปด้วยเหตุผลและมติที่เป็นเอกฉันท์จากเสียงส่วนใหญ่เสียก่อน
-
ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง
คนที่เป็นผู้ใหญ่ย่อมหมายถึงผู้ที่มีประสบการณ์มาก ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ทั้งยังเป็นผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามาก เห็นตัวอย่างในหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์ก็มักเกิดขึ้นซ้ำๆ เสมอ นอกจากนั้นยังเป็นผู้มีวุฒิภาวะ สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ดีกว่าคนอายุน้อย
ดังนั้น คนในสมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบันจึงมีค่านิยมให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่าเสมอมา ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ว่าบุคคลเหล่านี้สามารถมีส่วนช่วยเหลือสังคมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ด้วยความรู้และความสามารถที่มีอยู่
นอกจากนั้น หากผู้ใหญ่ได้รับความเคารพที่เหมาะสม ก็ย่อมถ่ายทอดประสบการณ์แก่คนรุ่นหลัง อันเป็นผลดีแก่ส่วนรวมอย่างแน่นอน สำหรับในสังคมไทย การเคารพนอบน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้ว ทุกคนจึงเห็นคุณค่าและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องดีที่สมควรทำ
แต่ว่าในปัจจุบัน นอกจากวัยวุฒิแล้ว ยังมีคุณวุฒิหรือความรู้ความสามารถเป็นอีกมาตรฐานหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปมักจะยำเกรง ซึ่งในความเป็นจริงก็ควรเป็นเช่นนั้น เราควรยกย่องและให้การสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ ต้องรับฟังและช่วยกันหาทางออกสำหรับปัญหาหนึ่งๆ อย่างเหมาะสม
ในสังคมปัจจุบัน มีความโน้มเอียงในการให้การยอมรับคนรุ่นใหม่ไฟแรงหัวคิดก้าวหน้ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แท้จริงแล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไรเพราะคนรุ่นใหม่ย่อมมีแนวคิดใหม่ๆ ที่ก้าวทันต่อสังคม รวมถึงวิทยาการที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย แนวคิดที่มาจากสายเลือดใหม่นี้จะทำให้องค์กรสามารถก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับก้าวให้ทันโลกโดยเฉพาะคู่แข่ง
แต่ในบางครั้ง พวกเราก็เอาแต่แนวความคิดใหม่เหล่านี้มากเกินไป จนลืมฟังความเห็นของผู้ที่เป็นผู้ใหญ่หรือมีประสบการณ์มาก่อน บ่อยครั้งแม้เราจะเห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นปูชนียบุคคล มีประสบการณ์และความรู้มากมาย แต่เราก็มักจะเห็นว่าคนเหล่านี้มีความคิดล้าหลัง ติดกับกรอบเดิมมากเกินไป ไม่อาจทำให้องค์กรพัฒนาได้ แน่นอนว่าความคิดเหล่านี้เป็นความผิดร้ายแรงมหันต์ ผู้มีประสบการณ์ย่อมมองเหตุการณ์ได้ทะลุถึงแก่นแท้มากกว่าคนที่ยังมีประสบการณ์น้อย
บางครั้งความคิดหรือไอเดียที่ดูสดใหม่และสร้างสรรค์อาจขาดการพิจารณาให้รอบคอบ และด้วยความด้อยประสบการณ์อาจทำให้เกิดรูโหว่ได้มาก
ดังนั้น ในการทำงานในองค์กรนั้น จึงยังคงจำเป็นต้องรับฟังผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า เพราะมีเพียงแต่ประสบการณ์จากผู้ใหญ่รวมกับความไฟแรงของคนรุ่นใหม่รวมกันเท่านั้น องค์กรจึงสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
-
บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายมิให้อยู่อย่างถูกข่มเหงรังแก
ในสมัยโบราณนั้น สังคมตั้งอยู่บนรากฐานความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ โดยในสังคมส่วนใหญ่ทั้งในตะวันออกและตะวันตก ยกย่องให้เพศชายเป็นใหญ่กว่าเพศหญิง
ดังจะเห็นได้จากการที่เพศชายเท่านั้นที่จะเป็นผู้นำการปกครองสูงสุด รวมไปถึงชนชั้นปกครองในสังคมด้วย ในหลายๆ พื้นที่บนโลก ค่านิยมว่าผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคนก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง
ในขณะที่หากผู้หญิงมีสามีหลายคนกลับจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาป ตัวอย่างเช่น นางมณโฑในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ หรือนางวันทองสองใจ
ดังนั้น หลักธรรมข้อนี้จึงต้องการเน้นย้ำให้การดูแลที่เหมาะสมต่อสตรีเพศ ถือเป็นความต้องการสร้างความเสมอภาคกันขึ้นในสมัยโบราณ เพราะแท้จริงแล้วหากสังคมใดยกย่องนับถือผู้หญิง สังคมนั้นย่อมมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปในทางที่ดีได้อย่างแน่นอน
ในปัจจุบัน เรากล่าวว่าชายหญิงมีความเท่าเทียมกัน แต่แท้จริงแล้วยังเป็นเพียงทางทฤษฎีเท่านั้น ในทางปฏิบัติยังคงปรากฏความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในองค์กรปัจจุบัน คนหัวโบราณบางคนยังยึดติดกับเพศนี้อยู่ มองว่าผู้หญิงทำงานจู้จี้และใช้อารมณ์มากเกินไป แต่ความเห็นนี้ก็ไม่ถูกต้องเสมอไปดังได้กล่าวไว้แล้ว
นอกจากนั้น เราอาจตีความรวมไปถึงการให้เสรีภาพและความเสมอภาคแก่พนักงานทุกคนได้ด้วย องค์กรจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองทั้งสภาพร่างกายและจิตใจแก่พนักงานอย่างเหมาะสม พยายามลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป
และองค์กรสมควรที่จะให้เห็นว่าพนักงานขององค์กรล้วนมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัว การปิดกั้นเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นทางด้านกรอบความคิด หรือการวางกฎระเบียบที่รัดกุม หรือเอาเปรียบพนักงาน จัดเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดทางหนึ่ง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อองค์กรอย่างแน่นอน
-
เคารพสักการบูชาเจดีย์ของวัชชี ทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยการทำธรรมิกพลี
วัฒนธรรมเป็นผลิตของสังคมหนึ่งๆ ที่ทุกคนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน เป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานทางสังคมที่ทำให้สังคมไม่เกิดความยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ
การบูชาเจดีย์และการทำธรรมิกพลีคือการแสดงความเคารพต่อสิ่งที่คนทั่วไปให้ความเคารพ เป็นการให้เกียรติต่อบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งยังเป็นการปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไปด้วย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การใส่ใจต่อวัฒนธรรมและทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการธำรงสังคมไม่ให้ไปสู่ความเสื่อม
เช่นเดียวกับในองค์กร การเคารพวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่น้อย วัฒนธรรมองค์กรหมายถึงวิถีการดำเนินงานในองค์กรที่ปฏิบัติกันจนเป็นเรื่องปกติ ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนกระแสใหญ่ในองค์กร การทำงานในองค์กรใดก็ตาม หากไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆ ได้ ก็คงยากที่จะทำงานร่วมกันต่อไป และการเคารพวัฒนธรรมองค์กรแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว ความมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน
นอกจากนั้น วัฒนธรรมองค์กรยังเป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรควรดำเนินไปร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้างานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้นำในด้านนี้ ตัวอย่างเช่น หากองค์กรมีวัฒนธรรมในการทำงานตรงเวลา หัวหน้าเองก็ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง
อย่างไรก็ตาม กับวัฒนธรรมองค์กรที่ดำเนินไปในทางลบนั้น ผู้เป็นหัวหน้ามีส่วนอย่างยิ่งในการแก้ไขให้เป็นไปในทางที่ถูก้อง แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องทำอย่างนุ่มนวล และต้องมีกลวิธีที่จะทำให้ทุกคนยอมเปลี่ยน ไม่อาจทำแบบหักดิบโดยเด็ดขาด
-
จัดให้ความอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ (บรรพชิตที่เป็นหลักใจของประชาชน) ตั้งใจให้ท่านที่ยังมิได้มาพึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่โดยผาสุก
อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยพุทธกาลหรือแม้แต่ในสมัยปัจจุบัน พระอรหันต์หรือบรรพชิตเป็นบุคคลตัวอย่างที่คนทั่วไปต่างยกย่อง เนื่องจากตามปรัชญาฮินดูแล้ว ท้ายที่สุดผู้ครองเรือนทุกคนจำเป็นต้องสละบ้านเรือนไปบำเพ็ญตนเพื่อทำให้สะอาดและไปสู่สุดสูงสุดตามความเชื่อทางศาสนา คนเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผู้พัฒนาทั้งกาย วาจา และใจสูงสุดกว่าคนอื่น ทั้งวัตรปฏิบัติก็ย่อมเป็นที่น่าเลื่อมใสของคนทั่วไป
หากบุคคลเหล่านี้ไปยังเมืองใด ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่เมืองนั้น และมีเพียงแต่บ้านเมืองที่มีความสงบสุขและให้การต้อนรับเท่านั้น ผู้ถือบวชเหล่านี้จึงจะอยู่ในเมืองนั้นเป็นเวลานาน
ดังนั้น ผู้เป็นใหญ่หรือแม้แต่สมาชิกในสังคมนั้นๆ จึงควรตั้งใจต้อนรับและบำรุงบุคคลเหล่านี้ เพื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะได้กลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและแบบอย่างทางด้านความประพฤติให้กับคนในสังคมนั้นๆ
สำหรับในองค์กรนั้น เราอาจเทียบพระอรหันต์หรือบรรพชิตอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะนั้นๆ ว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กร องค์กรจำเป็นต้องหาหนทางที่จะทำให้คนเหล่านี้อยากทำงานกับตนไปนานๆ และแม้แต่คนที่มีความสามารถแต่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมงาน ในองค์กรก็จำเป็นต้องทำองค์กรให้น่าอยู่จนทุกคนอยากเข้ามาร่วมงาน
องค์ประกอบดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ระบบการบริหารจัดการภายใน การให้ความเคารพพนักงานในทุกระดับ กฎระเบียบที่เหมาะสม วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นไปเพื่อการพัฒนา รวมไปถึงคุณธรรมและจริยธรรมของพนักงานในทุกๆ ระดับอีกด้วย
หากมีหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานที่เห็นแก่ตัว มักพูดเท็จ และชอบใส่ร้าย ผู้บังคับบัญชาควรจะต้องรับทราบและหาทางกำจัดให้คนเหล่านี้ออกไปหรือาจทำให้พวกเขาไม่สามารถทำพฤติกรรมดังกล่าวออกมาได้
นอกจากนั้น อย่างที่ทราบกันดีว่า ต้นทุนในการจ้างพนักงานนั้นสูงแค่ไหน หากมีพนักงานเข้าออกบ่อยๆ ก็นับว่าเปลืองทรัพยากรไม่น้อย
ดังนั้น การรักษาคนเก่าที่มีประสิทธิภาพให้ทำงานร่วมกับเราไปนานๆ และสร้างแรงดึงดูดให้คนใหม่ๆ ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กร ถือเป็นสิ่งจำเป็นใหญ่หลวงสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำให้ได้