

การขับเคลื่อน “การป้องกันและต่อต้านการทุจริต” โดยการมีส่วนร่วม ของภาคประชาชนและองค์กรชุมชน
drive “Prevention and Anti-Corruption” by participating of the people’s sector and community organizations
โครงการ “การพัฒนารูปแบบบทบาทรัฐบวรในการต่อต้านการทุจริต” ยุทธศาตร์มหาวิทยลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 1
[ผศ.ดร.สถาพร วิชัยรัมย์]
หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อปฏิบัติการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชนและองค์กรชุมชน คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรชุมชน โดยการใช้จุดเด่นของภาคประชาชนและองค์กรชุมชนที่มีความเป็นอิสระยืดหยุ่นคล่องตัวตามสถานการณ์และความจริงในพื้นที่ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านระเบียบ ข้อบังคับหรือกฎหมายเหมือนหน่วยงานของรัฐ เป็นอิสระจากการถูกบังคับจากหน่วยงาน ไม่ต้องรอคำสั่งหรือการอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งสามารถเชื่อมโยงและร่วมมือกับองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน ชุมชน
ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข ถึงแม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อจะพยายามออกนโยบาย มาตรการ ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 63 ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”
การส่งเสริมให้เครือข่ายภาคประชาชน สภาองค์กรชุมชน และภาคีที่เกี่ยวข้องของภาคประชาชน รัฐและเอกชน มีการบูรณาการในการดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ชุมชน และร่วมกันเป็นแกนกลางในการตรวจสอบ ป้องกัน ปัญหาอันเกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง เป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ในการดำเนินการจึงขับเคลื่อนด้วยกระบวนการในการพัฒนารูปแบบบทบาทของ “รัฐบวร” ในการต่อต้านและป้องกันการทุจริตในทุกภาคส่วน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
สาระสำคัญตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 63 บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”
สาระสำคัญ
-
- เจตนารมณ์ของกฎหมาย กำหนดว่า “รัฐต้องสนับสนุน” ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยให้ทุกคนรู้เท่าทันปัญหา สถานการณ์และภัยร้ายจากคอร์รัปชันที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชน
- สร้างกลไกที่ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกและสนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัชันโดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐ
- ส่งเสริมให้ประชาชนตื่นตัว เข้าในสิทธิหน้าที่ของตน มีความเป็นอิสระและเข้มแข็งด้วยตัวเอง สามารถร่วมมือกับรัฐอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี
วัตถุประสงค์สำคัญ
-
- ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- มีมาตรการและกลไกเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- ส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
ความหมายของการทุจริตและประพฤติมิชอบ
-
- ทุจริต หมายความว่า ความประพฤติชั่ว
- โดยทุจริต หมายความว่า แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
- ทุจริตในภาครัฐ หมายความว่า ทุจริตต่อหน้าหน้า หรือประพฤติมิชอบในภาครัฐ
- ทุจริตต่อหน้าที่ หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนเองมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น
- ประพฤติมิชอบ หมายความว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ที่มุ่งหมายควบคุมดูแล การรับ เก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน เพื่อตนเองหรือพวกพ้อง
หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (10) บัญญัติไว้ว่า “บุคคลมีหน้าที่ไม่ร่วมหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ”
ความชอบธรรมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
-
- ประชาชนเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะรวมตัวกันปกป้องสิทธิประโยชน์อันพึงได้จากภาษีประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ถูกเบียดบัง ฉ้อฉล
- การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตจะไม่สำเร็จหากกระทำโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นพลังพลเมืองตื่นรู้
ขั้นตอนการขับเคลื่อน
-
- รวมกลุ่มแกนนำผู้ก่อการดี
- วิเคราะห์พื้นที่ปัญหา
- สร้างพันธมิตรความร่วมมือ
- หารือวางแผนปฏิบัติการ
- ดำเนินงานตามแผนให้เกิดผล
- ชวนคนสรุปบทเรียน ประเมินค่า
- จัดสมัชชา เผยแพร่ขยายผล
- ภาคประชาชนร่วมผลักดันนโยบาย
ข้อจำกัดของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
-
- รวมตัวกันในลักษณะเฉพาะกิจ
- ขาดงบประมาณ
- ขาดการร่วมมือจากภาคส่วนอื่น
- ขาดข้อมูลและการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ
- ถูกตั้งคำถามถึงวาระซ่อนเร้น
หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
-
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- กรมสอบสวนคดีพิเศษ
- สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
- ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน สายด่วน 1111
- ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย
แหล่งที่มาของข้อมูล
-
- คู่มือการขับเคลื่อนโครงการป้องกันและต่อต้นการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))
- คู่มือแนวทางการดำเนินการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ)
- โครงการ “การพัฒนารูปแบบบทบาทรัฐบวรในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” (ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 1)