

โครงการพัฒนาศักยภาพคนและเครือข่ายองค์กรชุมชน
“จังหวัดบุรีรัมย์”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พอช. เป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 โดยการรวม 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานกองทุนพัฒนาชนบท และ สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง พอช. เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543
องค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบพิเศษ ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณะ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 การจัดตั้งองค์การมหาชนแต่ละองค์กร รัฐบาลจะตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ มีคณะกรรมการเป็นกลไกการบริหารที่กำกับเชิงนโยบาย และทิศทางขององค์กร โดยมีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
ภายใต้แผนปฏิบัติการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มี 4 ประเด็นการพัฒนา อันประกอบด้วย 1) การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง 2) การจัดระบบความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบาย 3) การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน และ 4) การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กร
หลังจากที่พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยมีเจตนารมณ์สำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนซึ่งเป็นสังคมรากฐานมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้ง และพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชน
พอช. ได้กำหนดแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนงานสภาองค์กรชุมชน โดยมุ่งเน้นให้เครือข่ายองค์กรชุมชนทุกระดับ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน สนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งแล้ว เป็นเวทีกลางในการเชื่อมโยงงานพัฒนาด้านต่างๆ ของชุมชนในระดับตำบลและจังหวัด ส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้องค์กรชุมชนเพื่อการขยายผลการจัดตั้งและดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สภาองค์กรชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเวทีประชุมปรึกษาหารือการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล หรือนำข้อมูลไปเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “สภาองค์กรชุมชน หมายถึง เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคนในชุมชนท้องถิ่นและเพื่อคนในชุมชนท้องถิ่น”
ในการนี้
ผศ.ดร.สถาพร วิชัยรัมย์ และ อาจารย์สากล พรหมสถิตย์ จากสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
ผศ.นพดล ธีระวงศ์ภิญโญ จากสาขาวิชานิติศาสตร์
ดร.คคนางค์ ช่อชู และ อาจารย์สุจิตรา ยางนอก จากสาขาวิชาการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการจัดเวทีพัฒนาศักยภาพคนและเครือข่ายองค์กรชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ ณ ห้องประชุมพัฒนาชุมชน (ศาลากลางหลังเก่า) ในประเด็นทางวิชาการประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการ 2) สภาองค์กรชุมชน 3) กระบวนการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน 4) บทบาทของผู้นำสภาองค์กรชุมชน 5) การจัดทำแผน 6) การเขียนโครงการและการดำเนินโครงการ และ 7) การบริหารตามหลักธรรมาภิบาล [หลักสูตรการบริหารจัดการองค์กรชุมชนตามหลักธรรมาภิบาล]
ทิศทางการขับเคลื่อนขบวนโดยเปลี่ยนจากการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการมาเป็นการคิดเอง ทำเอง จัดการเอง โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมว่า “ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเอง” มีนวัตกรรมในการทำงานเพิ่มขึ้นในแทบทุกประเด็นงาน และมีการใช้ข้อมูลและการจัดการความรู้มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน
ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเป็นโครงสร้างการพัฒนาจากฐานราก
การบริหารจัดการการพัฒนาที่ครอบคลุมทั่วถึง
สร้างโอกาสการพัฒนาอย่างเท่าเทียม
เนื้องานและคุณภาพการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
กระบวนการสร้างความเข้มแข็ง (คลิก)