ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ
- [ผศ.ดร.สถาพร วิชัยรัมย์]
- [อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์]
- [เอกสารคำสอน : วิชาธรรมาภิบาลในองค์การภาครัฐ : 2563]
- [การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเพิ่มคุณค่าในการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลักสูตร ธรรมาภิบาล : องค์กรภาครัฐสมัยใหม่]
เกริ่นนำ
- หลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี เป็นแนวทางในการจัดระเบียบให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการ และฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศ เพื่อบรรเทาป้องกันหรือแก้ไขเยียวยาวิกฤติอันตรายที่จะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า อันเป็นลักษณะสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และลักษณะทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
แนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี [Good Governance] เป็นแนวทางสำคัญที่รัฐบาลได้นำมาใช้ในการจัดระเบียบให้สังคมและประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข เพื่อช่วยป้องกันแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาหรือวิกฤติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหาร และสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จะต้องพัฒนาองค์การและตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติราชการเกินความจำเป็น เกิดความคุ้มค่า และมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า มั่นคง และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้การนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในหน่วยงานก็เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการเกิดความเชื่อถือศรัทธาว่าดำเนินงานมีความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการบริหารงานของรัฐ รวมทั้งพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานมีปริมาณที่ลดลง เป็น
- ในบทความนี้ผู้เขียนได้กำหนดประเด็นสำคัญ ได้แก่ ความหมายของธรรมาภิบาล เป้าหมายของการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล และหลักการเกี่ยวกับธรรมาภิบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ความหมายของธรรมาภิบาล
-
- แนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลนับได้ว่าเป็นแนวคิดที่สำคัญของการปกครองมาตั้งแต่อดีต โดยปรากฎในคำสอนของหลักศาสนา แนวคิดของนักปราชญ์นักปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ ที่ได้นำเสนอแนวคิดหลักการบริหารที่ดีหรือหลักการธรรมาภิบาลมาใช้ในการปกครอง และเป็นแนวทางในการจัดระเบียบสังคม เพื่อสังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและตั้งอยู่ในความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งนักวิชาการและองค์การต่างๆ ได้ให้นิยามและความหมายของธรรมาภิบาลที่สำคัญๆ สถาพร วิชัยรัมย์ (2560) ได้รวบรวมไว้ ดังนี้
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2541) ได้อธิบายว่า ธรรมาภิบาลเป็นศัพท์ที่สร้างขึ้นจากคำว่า “ธรรม” กับ “อภิบาล” ซึ่งคำว่า “ธรรม” แปลว่า ความดีหรือกฎเกณฑ์ ส่วนคำว่า “อภิบาล” แปลว่า บำรุงรักษา ปกครอง เมื่อรวมกันแล้วกลายเป็น “ธรรมาภิบาล”
- วรภัทร โตธนะเกษม (2542) กล่าวว่า Goog Governance หมายถึง “การกำกับดูแลที่ดี” หรือหมายถึง “การใช้สิทธิและความเป็นเจ้าของที่จะปกป้องดูแลผลประโยชน์ของตนเอง โดยผ่านกลไกที่เกิดในการบริหาร” โดยหัวใจสำคัญของ Good Governance คือ ความโปร่งใส ความยุติธรรมและความรับผิดชอบในผลของการตัดสินใจ
- ประเวศ วะสี (2542) ได้อธิบายเกี่ยวกับธรรมาภิบาลว่า “การที่สังคมประกอบด้วยภาคสำคัญๆ 3 ภาค คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เมื่อพิจารณาถึงธรรมาภิบาลก็จะรวมถึงความโปร่งใส ความถูกต้องของ 3 ภาคดังกล่าว” ธรรมาภิบาลในทัศนะของนายแพทย์ประเวศ วะสี จึงเป็นเสมือนพลังผลักดันที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ
- อานันท์ ปันยารชุน (2542) ได้ให้ความหมายของธรรมาภิบาลว่า “เป็นผลลัพธ์ของการจัดกิจกรรมซึ่งบุคคลและสถาบันทั่วไปทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีผลประโยชน์ร่วมกัน ได้กระทำลงไปในหลายทาง มีลักษณะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การผสมผสานผลประโยชน์ที่หลากหลายและขัดแย้งกันได้ โดยสาระธรรมาภิบาล หรือ Good Govrenance คือ องค์ประกอบที่ทำให้เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจได้ว่านโยบายที่กำหนดไว้จะได้ผล หมายถึงการมีบรรทัดฐาน”
- บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2544) ได่ให้ความหมายของธรรมาภิบาลว่า “เป็นระบบ โครงสร้าง กระบวนการ และความสัมพันธ์ของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของรัฐซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่ดี”
- Rhodes (1996) ได้ศึกษาเกี่ยวกับธรรมาภิบาลซึ่งรวบรวมความหมายไว้ว่ามีความหมายหลายอย่างและใช้ในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันออกไปตามหน่วยที่ศึกษา ที่สำคัญดังนี้
- ธรรมาภิบาลในฐานะของอำนาจรัฐในการตัดสินใจในการดำเนินการบริหารที่ลดน้อยลงและประชาชนจะเป็นผู้เรียกร้อง ตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐ
- บรรษัทที่บริหารอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งหมายถึงการดำเนินธุรกิจที่มีทิศทางและควบคุมตรวจสอบการบริหารงานของนักบริหารองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบชัดแจ้งทั้งงานของบริษัทพร้อมกับต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย การบริหารบริษัทนี้จะถือว่านักบริหารและผู้ถือหุ้นไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน ต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพที่จะต้องตรวจสอบจากองค์กรตรวจสอบภายนอก ทั้งนี้มิใช่เพื่อผลกำไรอย่างเดียว แต่ต้องเปิดเผย โปร่งใสและสามารถกำหนดตัวผู้รับผิดชอบที่แท้จริง
- การบริหารจัดการสาธารณะที่รัฐบาลจะต้องมีความสามารถในการริเริ่มเพื่อแข่งขันตอบสนองประชาชนเสมือนเป็นลูกค้ามากกว่าผู้ถูกปกครอง นักบริหารงานของรัฐมีบทบาทเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ ผลักดันการทำงานจากระบบราชการไปสู่ชุมชนให้เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการเอง การวัดความสามารถของข้าราชการของรัฐ วัดจากประสิทธิผลในการทำงาน ข้าราชการของรัฐจะต้องถือว่าการบริการคือภารกิจของตน นอกจากนั้นจะเป็นตัวเชื่อมประสานทุกส่วนของสังคม กล่าวคือ ส่วนสาธารณะ เอกชนและส่วนประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อประชาคม ซึ่งเรียกการบริหารนี้ว่าเป็นการบริหารงานสาธารณะแบบใหม่
- ธรรมาภิบาลในฐานะที่เป็นการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งเป็นการใช้กันอย่างกว้างขวางแพร่หลาย สำหรับการพัฒนาธรรมาภิบาลในที่นี้หมายถึงการใช้อำนาจทางการเมืองที่จะบริหารกิจการของชาติ โดยพัฒนาประสิทธิภาพของการบริการสาธารณะ ระบบตุลาการ และกฎหมายที่เป็นอิสระ มีความรับผิดชอบอย่างชัดแจ้งในการจัดการทางการเงิน มีการตรวจสอบสาธารณะที่เป็นอิสระ เป็นรัฐที่มีโครงสร้างสถาบันที่หลากหลาย และต้องยอมรับความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ซึ่งทำให้อำนาจรัฐได้รับการยอมรับและมีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย ธรรมาภิบาลแบบนี้จะเป็นการผสมผสานระหว่างการบริหารงานสาธารณะกับประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง
- ธรรมาภิบาลในแง่ของระบบสังคม ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบที่ตอบสนองความต้องการของส่วนย่อย การมีปฏิสัมพันธ์จะเกิดจากการยอมรับในความต่างของระบบ เป็นระบบที่พลวัตรของระบบทำให้สามารถแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของส่วนต่างๆอย่างยั่งยืน โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะสามารถสร้างแบบของปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในการแก้ปัญหาของชาติ ภารกิจของรัฐบาลก็คือความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในการแก้ปัญหา รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วม กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นการบริหารจัดการที่แต่ละหน่วยของภาครัฐและเอกชนร่วมกัน และถือว่าต่างฝ่ายต่างเป็นหุ้นส่วน โดยเน้นการดำเนินการแบบร่วมริเริ่ม รับผิดชอบ การมีปฏิสัมพันธ์แบบนี้มิใช่จะใช้ในระดับชาติ แต่ยังเป็นธรรมาภิบาลในระดับนานาชาติ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
- ธรรมาภิบาลในแง่ของการจัดระบบองค์การเครือข่ายจากภาคสาธารณะและภาคเอกชน ในกรณีนี้เกิดจากการเกี่ยวพันระหว่างองค์การต่างๆ ที่สามารถรวบรวมทรัพยากรมาเพื่อจะได้บริการต่อสาธารณะ ดังนั้น องค์การเครือข่ายจะสามารถนำเอาข่าวสารข้อมูลและเงิน รวมทั้งเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกันในการทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ เช่น ในโครงการร่วมระหว่างองค์การ ที่สำคัญก็คือเมื่อไรมีระบบพันธมิตรเกิดขึ้น ก็จะมีทรัพยากรมากขึ้นด้วย ยังทำให้มีอิสระและมีอำนาจในการต่อรองเกิดขึ้นด้วย รัฐบาลกลางจะเข้ามาก้าวก่ายสั่งการได้อย่างมีข้อจำกัด
- แนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลนับได้ว่าเป็นแนวคิดที่สำคัญของการปกครองมาตั้งแต่อดีต โดยปรากฎในคำสอนของหลักศาสนา แนวคิดของนักปราชญ์นักปรัชญาการเมืองสมัยโบราณ ที่ได้นำเสนอแนวคิดหลักการบริหารที่ดีหรือหลักการธรรมาภิบาลมาใช้ในการปกครอง และเป็นแนวทางในการจัดระเบียบสังคม เพื่อสังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและตั้งอยู่ในความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งนักวิชาการและองค์การต่างๆ ได้ให้นิยามและความหมายของธรรมาภิบาลที่สำคัญๆ สถาพร วิชัยรัมย์ (2560) ได้รวบรวมไว้ ดังนี้
จากความหมายและแนวคิดเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล ที่นักวิชาการและหน่วยงานทั้งหลายได้ให้ความหมายไว้นั้น สามารถสรุปได้ว่า “ธรรมาภิบาล คือ กติกากฎเกณฑ์ ในการบริหารปกครองที่ดีมีความเหมาะสม เป็นธรรมที่ใช้ในการธำรงรักษา จัดระเบียบให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข องค์การทั้งสามส่วนดังกล่าวก็จะมีเสถียรภาพ มีโครงสร้างการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
เป้าหมายของการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล
- การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีนั้นเป็นการดำเนินกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างเปิดเผย คาดเดาได้ เห็นแจ้งและเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจจัดการทรัพยากรในด้านต่างๆ ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดและมีความรับผิดชอบ
- บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2542) ได้อธิบายถึงธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีว่า คือ “การพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของทุกภาคส่วนในสังคม” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “มีจุดหมายในการสร้างความเป็นธรรมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับทุกภาคส่วนในสังคม” โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540) ซึ่งสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือความพยายามในการสร้างระบบการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีสำหรับประเทศไทย โดยเน้นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาครัฐมากขึ้น การประกันและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ภาครัฐมีการบริหารการปกครองที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบโดยประชาชนมากขึ้น มีเป้าหมายร่วมกัน 3 ประการ คือ
- การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ ได้แก่ การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับประชาชนหรือผู้รับบริการ อาจปรับปรุงการบริการให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และรายงานผลให้สาธารณชนทราบ มีความโปร่งใสในการตัดสินใจและในกระบวนการทำงาน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ร่วมแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการทำงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับความประหยัด ความมีประสิทธิภาพประสิทธิผล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อผลงานนั้นๆ แทนการยึดมั่นในการทำงานให้ถูกต้องตามกฎระเบียบวิธีการอย่างเดียวเช่นในอดีต
- การปรับตัวเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐ ได้แก่ การเน้นงานหน้าที่หลักของภาครัฐ ซึ่งได้แก่การกำหนดนโยบายซึ่งมองการณ์ไกล มีการบังคับใช้กฎหมายให้มีความเสมอภาค เป็นธรรม โดยกระจายงานบริการให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นและองค์กรอิสระมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
- การบริหารแบบพหุภาคี ได้แก่ การบริหารที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ หรือร่วมปฏิบัติร่วมบริการ เพื่อให้การบริหารและการบริการสาธารณะเป็นที่พึงพอใจของประชาชนหรือผู้รับบริการ และเป็นการจัดระบบการบริหารแบบใหม่ที่ไม่ผูกขาดหรือรวมศูนย์อำนาจแบบอดีต
- พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 6 บัญญัติว่า การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
- เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
- เกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของรัฐ
- มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
- ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
- มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
- ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
- มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
- บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2542) ได้อธิบายถึงธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีว่า คือ “การพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของทุกภาคส่วนในสังคม” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “มีจุดหมายในการสร้างความเป็นธรรมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับทุกภาคส่วนในสังคม” โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540) ซึ่งสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือความพยายามในการสร้างระบบการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีสำหรับประเทศไทย โดยเน้นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาครัฐมากขึ้น การประกันและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ภาครัฐมีการบริหารการปกครองที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบโดยประชาชนมากขึ้น มีเป้าหมายร่วมกัน 3 ประการ คือ
เป้าหมายดังกล่าว เป็นเป้าหมายเพื่อให้ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อนึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำหลักเกณฑ์การบริหารบ้านเมืองที่ดีตามแนวทางของพระราชกฤษฎีกานี้ โดยอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และการอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน ส่วนองค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ (ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา) ต้องจัดให้มีหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามแนวทางพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย
หลักการเกี่ยวกับธรรมาภิบาล
- การบริหารจัดการที่ดีอาจประกอบไปด้วยหลักการสำคัญหลายประการ แล้วแต่วัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งอาจประกอบด้วย 8 หลักการ ตามองค์การสหประชาชาติ คือ (รัชยา ภักดีจิตต์, 2557)
- การมีส่วนร่วม
- การมุ่งฉันทามติ
- สำนึกรับผิดชอบ
- ความโปร่งใส
- การตอบสนอง
- ความเท่าเทียมกันและการคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม
- ประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- การประพฤติตามหลักนิติธรรม
- ธรรมาภิบาลอาจประกอบไปด้วยหลักการต่างๆ มากมายแล้วแต่ผู้ที่จะนำเรื่องของธรรมาภิบาลไปใช้และจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากกว่ากัน และในบริบทของประเทศ บริบทของหน่วยงาน หลักการใดจึงจะเหมาะสมที่สุด สำหรับประเทศไทยแล้ว เนื่องจากได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ด้วย ในที่นี้จึงขอนำเสนอหลักธรรมาภิบาลบนหลักการทั้ง 6 หลักการของสถาบันพระปกเกล้า ดังนี้ (ถวิลวดี บุรีกุล, 2551)
- หลักนิติธรรม
- หลักคุณธรรม
- หลักความโปร่งใส
- หลักการมีส่วนร่วม
- หลักความสำนึกรับผิดชอบ
- หลักความคุ้มค่า
- ในปี พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 หลัก และหลักการย่อยอีก 10 หลัก ดังนี้ (ปธาน สุวรรณมงคล, 2556)
- การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่
- ประสิทธิภาพ
- ประสิทธิผล
- การตอบสนอง
- ค่านิยมประชาธิปไตย
- ภาระรับผิดชอบ / สามารถตรวจสอบได้
- เปิดเผย / โปร่งใส
- นิติธรรม
- ความเสมอภาค
- ประชารัฐ
- การกระจายอำนาจ
- การมีส่วนร่วม
- ความรับผิดชอบทางการบริหาร
- คุณธรรม / จริยธรรม
- การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่
จากหลักการการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและวิธีปฏิบัติดังกล่าวสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงจะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารภาครัฐของไทย จะสามารถตอบสนองต่อภารกิจและความต้องการของประชาชนได้อย่างดีทั้งในด้านวิธีการทำงานและพฤติกรรมการให้บริการแก่ประชาชน ทั้งนี้เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาแล้วย่อมมีผลผูกพันที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการให้บริการประชาชนจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์แห่งพระราชกฤษฎีกานี้ หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วแต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อประชาชนได้
สรุปส่งท้าย
หลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดีเป็นแนวทางในการจัดระเบียบให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน ครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายราชการและฝ่ายธุรกิจ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีความรู้รักสามัคคีและร่วมกันเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การจะทำให้ธรรมาภิบาลเกิดเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ นอกจากจะมีตัวชี้วัดของแต่ละองค์ประกอบของธรรมาภิบาลแล้ว บทบาทสำคัญในการสนับสนุน ส่งเสริมธรรมาภิบาลคือบทบาทขององค์การต่างๆ ที่จะกำหนดกรอบการดำเนินการให้ชัดเจนและองค์กรจะต้องขับเคลื่อนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ ส่วนองค์กรอิสระก็จะต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบความโปร่งใส สุจริตและคุ้มครองสิทธิของประชาชน นอกจากนี้ผู้บริหารหน่วยงานจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน พัฒนา สนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในหน่วยงาน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.
เอกสารอ้างอิง
- ถวิลวดี บุรีกุล. (2551). การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี. ในประมวลชุดวิชาการบริหารภาครัฐ (หน่วยที่ 10). นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
- บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2542). การสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : ตุลาการพิมพ์.
- ปธาน สุวรรณมงคล. (2556). การบริหารงานภาครัฐกับการสร้างธรรมาภิบาล. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.
- ประเวศ วะสี. (2542). ยุทธศาสตร์ชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนเพื่อสังคมธนาคารออมสิน.
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542. (2542) ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 116 ตอนที่ 63 ง, หน้า 2.
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540. (2540). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 ตอนที่ 47 ก, หน้า 21.
- รัชยา ภักดีจิตต์. (2557). ธรรมาภิบาลเพื่อการบริการภาครัฐและเอกชน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- วรภัทร โตธนะเกษม. (2542). การสร้าง Goog Governance ในองค์กร. วารสาร กสท. 5 (4), 11-17.
- สถาบันพระปกเกล้า. (2545). การศึกษาเพื่อพัฒนาดัชนีวัดผลการพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดี, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า.
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2541). ธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. ในเอกสารการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2541 เรื่อง จากวิกฤติสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน. (11-13). กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.
- สถาพร วิชัยรัมย์. (2560). จริยธรรมสำหรับนักบริหาร. บุรีรัมย์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.
- อานันท์ ปันยารชุน. (2542). ธรรมาภิบาลในการบริหารวิทยาลัยในนานาทัศนะว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี. นนทบุรี : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน.
- Rhodes, R.A.W. (1996). The New Government : Governing without Government. Oxford : University of Newcastle-Tyne.
#[ปรับปรุงจากเอกสารคำสอน : วิชาธรรมาภิบาลในองค์การภาครัฐ : 2563]#
อื่นๆ [บทความ]
https://pa.bru.ac.th/2021/08/15/ethics01/ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวคุณธรรมจริยธรรม
https://pa.bru.ac.th/2021/08/21/happy-with-morality สุขได้ด้วยศีล
ผศ.ดร.สถาพร วิชัยรัมย์
สาขาวิชารัฐประศาสนศาตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์
หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 10 หลัก